ส่องโรคใกล้ตัวของชาว Gen Z อายุน้อยใครว่าไม่เสี่ยง
คน Gen Z มักทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับการทำงาน เพราะคิดว่าตนเองอายุยังน้อย จะอดหลับอดนอน กินอาหารไม่ตรงเวลา หรือนั่งปั่นงานหามรุ่งหามค่ำแบบ ไม่พักก็ยังสู้ไหว แต่หากทำแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ร่างกายอาจเริ่มมีอาการเจ็บป่วยออกมาได้ แม้ว่าอาการจะไม่หนักหนานัก แต่ก็อาจเป็นสาเหตุเริ่มต้นของโรคบางโรคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเลยก็ได้ ดังนั้นวันนี้เราจะพาทุกคนมาส่องโรคใกล้ตัว ที่คน Gen Z ส่วนใหญ่มักเป็นกันว่า หากเราใช้ชีวิตไม่ระวังและไม่รักษาสุขภาพ อาจทำให้เราเป็นคนอายุน้อยร้อยโรคได้ ว่าแต่อาการป่วยแบบไหน มีความเสี่ยงในการเกิดโรคอะไรบ้างไปดูกันเลยยย...
อาการ: ปวดท้องบ่อย
หากใครมีอาการปวดท้องบ่อยและมักรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด กินดึก กินแล้วนอน หรือกินครั้งละมาก ๆ ในเวลาอันรวดเร็ว รวมถึงชอบดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการปวดท้องที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรครุนแรงก่อนวัยอันควรได้ เช่น โรคกระเพาะ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ หรือถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
วิธีป้องกัน
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- กินอาหารมื้อละน้อย ๆ แต่ให้ตรงเวลา
- ไม่กินอาหารรสจัดจนเกินไป
- ลดการรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะ
อาการ: ปวดหัวบ่อย
อาการปวดหัวที่ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดจากไมเกรน ความเครียด อากาศร้อน การใช้ความคิดมาก ๆ หรือการนั่งทำงานนาน ๆ ในที่ที่แสงสว่างไม่เพียงพอ ก็อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการปวดที่ไม่เป็นอันตราย แต่หากเราเริ่มมีอาการปวดแบบหัวเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน โดยมีอาการปวดหัวแบบรุนแรง หรือมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย ซึ่งอาจมีความเสี่ยงของการเกิดโรคเนื้องอกในสมอง มะเร็งสมอง เส้นเลือดสมองโป่งพอง หรือความดันโลหิตสูง เป็นต้น
วิธีป้องกัน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ประคบเย็นเมื่อมีอาการปวด
- นอนหลับให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ
- หากปวดหัวเป็นเวลานานแล้ว ควรไปพบแพทย์
อาการ: ปวดคอ บ่า ไหล่ หลังบ่อย
อาการปวดคอ บ่า ไหล่ หลัง เป็นอาการปวดร่างกายที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ทั้งจากการนั่งทำงานเป็นเวลานาน นั่งผิดท่า ไม่ยอมออกกำลังกาย สะพายกระเป๋าหรือยกของหนัก ที่ส่งผลให้คน Gen Z เสี่ยงเป็นโรค Text neck syndrome หรือที่รู้จักกันในชื่อโรค "ออฟฟิศซินโดรม" ที่หากปล่อยให้อาการเรื้อรังไป อาจส่งผลให้มีอาการ ชา ปวดร้าวจากคอไปยังมือ หรือมีอาการอ่อนแรง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังคด และแขนขาอ่อนแรง
วิธีป้องกัน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ปรับสภาพแวดล้อมการทำงานและการใช้โทรศัพท์
- ไม่นั่งทำงานต่อเนื่องนาน ๆ
- พัก เปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะ
- ไม่ก้มหลัง และ ไม่ห่อไหล่
ด้วยไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตและการทำงานของชาว Gen Z ที่ต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียชนิดที่แยกขาดจากกันไม่ได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง แม้จะเป็นผลเสียในระยะสั้น แต่หากสะสมอาการเจ็บป่วยไปเป็นเวลานานและไม่หาทางแก้ไขปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้น ในระยะยาวอาจส่งผลเสียให้เกิดโรครุนแรงชนิดที่คาดไม่ถึง...