ภาวะวูบหมดสติ" อาการเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิต!

ภาวะวูบหมดสติ" อาการเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิต!

หลายคนต้องเคยเป็น หรือเห็นใครมีอาการหน้ามืด วูบ หมดสติ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ร่างกายอ่อนเพลีย พักผ่อนน้อย ยืนตากแดดนาน ๆ มีการสูญเสียน้ำหรือเกลือแร่ในร่างกาย เช่น เสียเหงื่อมาก หรือท้องเสียรุนแรง บางคนอาจมีอาการหลังใช้ยาลดความดัน หรือยาที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ก็สามารถนำไปสู่อาการหน้ามืด หมดสติได้

แต่อาการที่ดูเหมือนจะพบเจอได้ทั่วไปนั้น อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ หรือโรคทางสมอง เราจึงควรระมัดระวังและทำความเข้าใจกับอาการเหล่านี้ให้ดี เพื่อจะทราบแนวทางป้องกันและเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้

หน้ามืด วูบ หมดสติ คืออะไร ในทางการแพทย์

วูบ หน้ามืด คือ ภาวะหมดสติ หรือเกือบหมดสติที่อาจเกิดขึ้นชั่วคราว หรือเป็นเวลานานก็ได้ ในทางการแพทย์จะเรียกว่า อาการลมวูบหมดสติ (Syncope) โดยผู้ป่วยจะรู้สึกหน้ามืด จะเป็นลม ตาลาย มองเห็นภาพไม่ชัดเจน

โดยทั่วไปแล้วอาการวูบ หร้ามืดนี้ มักมีสาเหตุมาจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ในบางรายอาจมีสาเหตุมาจากอาการชัก หรือระบบหูชั้นในมีปัญหาทำให้เสียการทรงตัว หรือวิงเวียนศีรษะ อาการเหล่านี้หากไม่ระมัดระวัง อาจทำให้ผู้ป่วยล้มลงศีรษะกระแทกพื้นได้รับบาดเจ็บได้

ส่วนภาวะหมดสติ (Unconsciousness) คือ ภาวะที่ร่างกายไม่รู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่รับรู้ต่อสภาพแวดล้อม ไม่มีตอบสนองต่อการกระตุ้นใด ๆ โดยส่วนใหญ่แล้ว ภาวะหมดสติ มักมาจากสาเหตุที่ร้ายแรง จึงควรนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด


สาเหตุของ หน้ามืด วูบ หมดสติ

เป็นลมธรรมดา:

เป็นอาการ หน้ามืด วูบ หมดสติ ที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

  1. สภาพจิตใจที่ไม่เป็นปกติ เช่น เครียดมาก กลัว หรือตกใจมาก ๆ มักเกิดขึ้นเมื่อพบเจอกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด
  2. อยู่ในสถานที่หรือสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เช่น อยู่ในสถานที่แออัดคับคั่ง หรือที่ที่ร้อนอบอ้าว ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นลมได้จากการยืนนาน ๆ
  3. มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น รู้สึกหิวมากเป็นเวลานาน ๆ
  4. ร่างกายสูญเสียน้ำมากหรือมีภาวะขาดน้ำ เช่น ท้องเสีย หรือเสียเหงื่อมากเกินไป
  5. ร่างกายอ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้า จากการทำงานหนัก การหักโหมออกกำลังกาย หรือนอนดึกเป็นประจำ
  6. ความดันตกในช่วงสั้น ๆ แล้วทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ซึ่งมีสาเหตุมาจากคนที่ไอรุนแรง เบ่งปัสสาวะหรืออุจจาระแรง ๆ
  7. นอนหรือนั่งอยู่นานแล้วลุกขึ้นยืนทันที เรียกว่า ความดันเลือดต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ  (Orthostatic hypotension)
  8. ความดันโลหิตต่ำ ซึ่งอาจมาจากโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ที่กินยารักษาโรคความดันเลือดสูงหรือโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่มีภาวะตกเลือด หรือเป็นภาวะของร่างกายในผู้สูงอายุ

อาการวูบ หน้ามืด หมดสติที่ต้องระวัง:

มีลักษณะอาการที่ดูคล้ายคลึงกันกับประเภทแรก แต่มาจากสาเหตุที่อันตรายกว่า ซึ่งควรรีบพาส่งโรงพยาบาล ได้แก่

  1. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในระดับรุนแรง อาจมาจากผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานกำเริบ ผู้ป่วยเนื้องอกบางชนิด ผู้ที่ดื่มสุราในปริมาณมาก
  2. ความผิดปกติของสมองหรือระบบประสาท เช่น โรคลมชัก (อาจไม่มีการชักให้เห็น) หรืออาจเกิดจากเสียเลือดเลี้ยงสมองเอง เช่น ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว เลือดออกในสมอง หลอดเลือดสมองตีบ หรืออาจได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ ทำให้สมองกระทบกระเทือน เป็นต้น
  3. โรคหัวใจ ได้แก่

  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ (cardiac arrhythmia) เช่น บางครั้งช้าเกินไป บางครั้งเร็วมากเกินไป หัวใจปั๊มเลือดได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะสมอง จึงมีอาการเป็นลมหมดสติได้

  • ความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วรุนแรง กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม กล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ

   • หลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

หากดูเพียงผิวเผิน อาการเป็นลมธรรมดา กับอาการเป็นลมที่มาจากสาเหตุอันตรายร้ายแรงอาจดูคล้ายกัน หากไม่ได้สังเกตโดยละเอียด แล้วทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ดีพอ หรือส่งต่อไปยังโรงพยาบาลล่าช้า อาจส่งผลถึงชีวิตได้


วูบ หน้ามืด หมดสติ แบบไหนต้องรีบพาพบแพทย์?

เมื่อเรารู้ถึงสาเหตุของอาการวูบ หมดสติ ที่เป็นอันตรายแล้ว ลำดับถัดไปคือ วิธีการสังเกตและประเมินอาการวูบ หน้ามืด เวียนหัว หมดสติ

เป็นลมธรรมดา

ผู้ป่วยที่เป็นลมธรรมดา จะมีความรู้สึกใจหวิว ๆ ทรงตัวไม่ไหว บางรายหากหมดสติอยู่ จะใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 1- 2 นาทีก็ฟื้นได้ บางรายจะมีอาการเตือนล่วงหน้า เช่น รู้สึกหนักศีรษะ รู้สึกโคลงเคลง ไม่มีแรงประคองตัว ตามัวลง หรือมองเห็นภาพเป็นจุด เป็นต้น แล้วจึงจะเริ่มมีอาการวูบ หรือเป็นลมตามมา

อาการวูบแบบไหน ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

  1. ผู้ป่วยมีอาการวูบแล้วหมดสติเป็นเวลานาน ให้เราประเมินการหมดสติ โดยการตะโกนเรียกดัง ๆ และเขย่าที่ไหล่ ถ้าผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัวหรือเคลื่อนไหว ควรรีบทำการช่วยชีวิต และนำส่งโรงพยาบาล
  2. ผู้ป่วยวูบและมีอาการชักร่วมด้วย
  3. ผู้ป่วยวูบแล้วหัวใจเต้นผิดปกติ อาจมีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น หายใจหอบเหนื่อย
  4. ผู้ป่วยวูบและมีอาการหน้าเบี้ยวร่วมด้วย
  5. ผู้ป่วยมีอาการตกเลือด อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ หรือมีเลือดออก
  6. ผู้ป่วยท้องเสียหรืออาเจียนรุนแรงจนมีภาวะขาดน้ำ
  7. ผู้ป่วยมีอาการอื่นร่วมด้วย อย่างน้อย 1 อย่าง ดังนี้ ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดศีรษะ วิงเวียน ตาเห็นภาพซ้อน พูดอ้อแอ้ กลืนลำบาก เดินเซ หรือแขนขามีอาการชาหรืออ่อนแรง
  8. ผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ หรือทราบว่ามีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เป็นต้น

การป้องกันอาการ หน้ามืด วูบ หมดสติ

แม้ว่าอาการดังกล่าวจะมีที่มาได้จากหลายสาเหตุ แต่ในเบื้องต้น หากเรามีการรักษาสุขภาพให้ดีและหมั่นตรวจตราสุขภาพของตนเองอยู่เสมอ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของหลาย ๆ สาเหตุที่ทำให้เรามีอาการหน้ามืด หมดสติได้

  1. หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง การรู้ว่าตัวเองมีโรคประจำตัวหรือมีอาการผิดปกติอะไร จะช่วยให้เราพร้อมรับมือกับอาการผิดปกติได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที
  2. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับอายุ
  3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเน้นที่ความสม่ำเสมอ ไม่ได้เน้นที่ความหนักหรือหักโหม
  4. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  5. ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน (ควรดื่มน้ำให้ได้ 8-13 แก้วต่อวัน)
  6. พักผ่อนให้เพียงพอ และนอนหลับให้เป็นเวลา อย่างน้อย  7-8 ชั่วโมงต่อวัน
  7. หากมีอาการวูบตอนเปลี่ยนท่า ควรเปลี่ยนท่าช้า ๆ
  8. ถ้ากินยาเป็นประจำ แล้วทำให้หน้ามืดเป็นลมบ่อย ๆ ควรปรึกษาแพทย์
  9. ติดตามและศึกษาแนวทางการสังเกตอาการหน้ามืด วูบ หมดสติ เพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ตามอาการวูบที่ปรากฏ

ข้อปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการวูบ หรือพบเห็นคนมีอาการ

แนวทางปฏิบัติสำหรับตัวเราเอง หรือกรณีพบเห็นผู้อื่นมีอาการผิดปกติ มีดังนี้

หากตัวเราเองมีอาการหน้ามืด วูบ หมดสติ

  1. เมื่อมีอาการโหวง ๆ วูบ ๆ คล้ายจะเป็นลม อย่ายืนอยู่เฉย ๆ เพราะอาจล้มได้รับบาดเจ็บได้ พยายามหาหลักพิงที่มั่นคงก่อน
  2. หากเดินไหว ให้พยายามหาสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ถ้าหายใจไม่สะดวกให้นั่งลงช้า ๆ พยายามสูดหายใจลึก ๆ
  3. หากอาการแย่มาก ให้นอนราบสักพักเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปยังสมองได้ดีขึ้น ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบบอกคนใกล้ตัวแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

หากพบเห็นคนมีอาการหน้ามืด วูบ หมดสติ

ทำการตรวจสอบว่าหมดสติหรือไม่ โดยการตะโกนเรียกดัง ๆ และเขย่าที่ไหล่ ดูว่าคนไข้รู้เรื่องหรือได้ยินที่เราพูดหรือเปล่า หากผู้ป่วยรู้สึกตัว อย่าพึ่งให้ลุกนั่งทันที (เพราะความดันอาจจะตก) ควรให้พักต่ออีกราว ๆ 15 นาที ระหว่างนั้นให้รีบขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น

กรณีที่ผู้ป่วยมีสติ หรือยังรู้สึกตัวอยู่

  1. ถ้าอาการยังแย่อยู่ หรือมีอาการกึ่งหมดสติ อย่าพึ่งให้อาหารและน้ำ
  2. จัดให้คนไข้นอนหงายราบ ยกขาสูงขึ้น จัดสิ่งแวดล้อมให้อากาศถ่ายเทได้ดี (ห้ามมีคนมุง)
    เช็ดใบหน้า คอ แขนและขา ด้วยผ้าชุบน้ำ
  3. ช่วยให้ผู้ป่วยเชิดคางให้ยกขึ้น จะทำให้ทางเดินหายใจเปิดโล่ง

กรณีผู้ป่วยหมดสติ ไม่รู้สึกตัว

ให้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยวิธี CPR (Cardiopulmonary resuscitation : CPR) สำหรับขั้นตอนในการทำ CPR เบื้องต้นมีหลักการดังนี้

  • ให้เราประเมินสถานการณ์ก่อนว่า เรามีความพร้อมที่จะเข้าไปช่วยและมีความปลอดภัยในการเข้าไปช่วยหรือไม่ เช่น ถ้าคนไข้ถูกไฟช็อต ก็ต้องตัดไฟก่อนเข้าช่วยเหลือ (scene safety)
  • ให้เราประเมินว่าคนไข้หมดสติไปจริงหรือไม่ โดยปลุกเรียกผู้ป่วยด้วยเสียงที่ดังและตบไหล่ทั้งสองข้าง เพื่อประเมินการตอบสนองของผู้ป่วย
  • หากพบว่าไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หรือ หายใจเฮือก (agonal breathing หรือ gasping) ให้รีบโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 พร้อมร้องขอเครื่อง AED ที่อยู่ใกล้ที่สุด ให้มาที่จุดเกิดเหตุทันที
  • ช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ ด้วยการกดหน้าอก และจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย วางส้นมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างของกึ่งกลางกระดูกหน้าอก และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอก ด้วยความลึก 5-6 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100-120ครั้งต่อนาที โดยไม่จำเป็นต้องช่วยหายใจ (start hand-only CPR)

การวินิจฉัยอาการหน้ามืด วูบ หมดสติ โดยแพทย์

หากมีอาการหน้ามืด วูบ หมดสติ แล้วไม่แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุใด ควรเข้ามาปรึกษาแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายทั่วไป และตรวจระบบประสาท เพื่อดูอาการว่าบ่งชี้ต่าง ๆ ก่อนที่จะทำการส่งตรวจโดยละเอียดต่อไป

อาการหน้ามืด วูบ หมดสติ มีได้หลายสาเหตุ จึงควรทำความเข้าใจแนวทางสังเกตเบื้องต้น และหมั่นประเมินอาการอย่างละเอียด เพราะบางกรณีอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงอย่าง โรคหัวใจ หรือ โรคทางสมอง บางรายอาจเกิดอาการขึ้นอย่างฉับพลันและเสียชีวิต อย่างที่เป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง ดูแล้วก็น่าใจหาย

ดังนั้น หากเรามีการศึกษาแนวทางสังเกตและวิธีรับมือไว้ล่วงหน้า จะได้เข้าช่วยเหลือได้ทันกาล และลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ หรืออย่างน้อย ถ้ามีคนรอบตัวเกิดอาการหน้ามืด วูบขึ้นมา และไม่ได้มีอาการรุนแรงมาก เราจะได้ดูแลพวกเขาได้อย่างเหมาะสม ก่อนนำตัวไปรักษาต่อไป