"มะเร็งปอด" ไม่สูบก็เสี่ยงเป็นได้

"มะเร็งปอด" ไม่สูบก็เสี่ยงเป็นได้
Photo by Andres Siimon / Unsplash

มะเร็งปอด จัดเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย โดยส่วนมากผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดในระยะแรก มักจะไม่ค่อยแสดงอาการ แต่จะเริ่มแสดงอาการว่าเป็นโรคเมื่อมีมะเร็งนั้นเจริญเติบโตมากขึ้นแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ก็สามารถที่จะรักษาให้หายได้

สาเหตุของโรคมะเร็งปอด

"มะเร็งปอด" มีสาเหตุมาจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งสามารถตรวจพบได้เมื่อมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมากและแพร่กระจายไปตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย

โดยมะเร็งปอด สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  • มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) : เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตรวดเร็ว ซึ่งพบได้ 10 – 15%
  • มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer) : แพร่กระจายได้ช้ากว่าและสามารถรักษาให้หายได้ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก ๆ ด้วยการผ่าตัดเอาชิ้นส่วนเซลล์มะเร็งออก โดยมะเร็งชนิดนี้สามารถพบได้ประมาณ 85 – 90%

ระยะของมะเร็งปอด

ระยะของมะเร็งปอดนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง โดยกำหนดจากตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งและการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งระยะของมะเร็งนั้นมีความสำคัญมากต่อการรักษา เพราะจะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาและหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมได้

ระยะของมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก มี 2 ระยะ

  • ระยะที่ 1 ระยะจำกัด (Limited Stage) พบเซลล์มะเร็งอยู่ในปอด 1 ข้างและต่อมน้ำเหลืองข้างเดียวเท่านั้น
  • ระยะที่ 2 ระยะลุกลาม (Extensive Stage) เซลล์มะเร็งกระจายออกนอกบริเวณช่องทรวงอกข้างนั้น หรือกระจายสู่อวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย

ระยะของมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก มี 4 ระยะ

  • ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ตรวจพบว่ามีก้อนบางอย่างอยู่ภายในปอด ในระยะแรกนี้ผู้ป่วยมักจะไม่แสดงอาการ หรือความผิดปกติออกมา
  • ระยะที่ 2 เป็นระยะที่ตรวจพบว่าเซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด โดยในระยะที่ 1 และ 2 เป็นระยะที่สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดนำก้อนเนื้อออกจากร่างกาย
  • ระยะที่ 3 เป็นระยะที่ตรวจพบว่าเซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปที่ปอดกลีบอื่น ๆ หรือลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองกลางช่องอก หรือไกลออกไปจากช่องอกข้างนั้น ๆ
  • ระยะที่ 4 ป็นระยะที่ตรวจพบว่าเซลล์มะเร็งมีการกระจายตัวไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่คอ ตับ กระดูก ต่อมหมวกไตและสมอง เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด

  1. การสูบบุหรี่ : ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด รวมไปถึงมะเร็งชนิดอื่น ๆ ด้วยโดยผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากถึง 10 เท่า ของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
  2. ควันบุหรี่มือสอง : แม้จะไม่ได้สูบบุหรี่ แต่การได้รับควันบุหรี่มือสอง มือสาม จากการสูดหายใจเข้าไป ก็อาจจะทำให้มีสารพิษตกค้างซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งได้เช่นกัน
  3. การทำงานในอุตสาหกรรมที่มีสารก่อมะเร็ง : การสัมผัสสารก่อมะเร็ง เช่น โครเมียม ไรแย่หิน แร่เรดอนและนิกเกิล เป็นต้น
  4. สภาวะแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองพิษ : จากการศึกษาพบว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปอดมากถึง 1 – 1.4 เท่า ซึ่งถือว่ามีความรุนแรงเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่
  5. พันธุกรรม : แม้โรคมะเร็งปอดจะไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยตรง แต่ก็พบความเชื่อมโยงที่ว่า หากบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งปอดตั้งแต่อายุน้อย ๆ สมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งปอดสูงกว่าคนทั่วไปด้วยเช่นกัน

อาการของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยเป็นมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น มักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามแล้วจะแสดงอาการที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้

  • ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะปนเลือด
  • หายใจลำบาก หอบเหนื่อย
  • หายใจสั้น หายใจมีเสียงหวีด
  • เจ็บหน้าอกตลอดเวลา
  • เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน
  • ปอดติดเชื้อบ่อย
  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

มะเร็งปอดไม่ใช่โรคติดต่อและไม่สามารถส่งผ่านไปยังคนอื่น ๆ ได้ ผู้ที่มีอาการที่ตามกล่าวมาข้างต้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดเสมอไป ดังนั้น หากพบว่าตนเอง หรือบุคคลใกล้ชิดเริ่มแสดงอาการดังที่กล่าวมา ควรจะรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว โดยหากมีอาการที่เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอด แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อเป็นการยืนยันด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การเอกซเรย์ปอด (X-ray), การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan), การส่องกล้องลอดลมปอด (Bronchoscopy), การตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ (Biopsy), การตรวจคัดกรองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low-Dose CT chest), การส่องกล้องในช่องกลางทรวงอก (Mediastinoscopy) เป็นต้น

และหากคุณเป็นคนที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่จัด, มีอายุ 50 ปีขึ้นไป, เลิกสูบบุหรี่แล้ว แต่ยังหยุดสูบไม่ถึง 15 ปี, คนในครอบครัวสูบบุหรี่, มีโอกาสได้รับควันบุหรี่มือสอง, ทำงานใกล้ชิดกับสารเคมี หรือสารก่อมะเร็ง, สัมผัสฝุ่นควันหรือมลพิษทางอากาศเป็นเวลานาน, มีประวัติญาติสายตรงเป็นโรคมะเร็งปอด หากคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดและหมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำสม่ำเสมอ