แค่อยากหรือป่วย ? เช็กความเสี่ยงโรคกินไม่หยุด
ใครที่เริ่มมีอาการแบบนี้ขอให้ยกมือขึ้น! กินยังไงก็ไม่อิ่ม กินมากกว่าปกติ อยากกินตลอดเวลา อย่าชะล่าใจไป ใครจะไปคิดว่าพฤติกรรมการกินอาหารไม่หยุดนี้ อาจไม่ใช่แค่ความอยากอาหาร แต่คุณอาจเผชิญกับโรคโดยที่คุณไม่รู้ตัว ที่หากปล่อยทิ้งไว้อาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้ วันนี้เราจะพาไปทุกคนไปทำความรู้จักกับ "โรคกินไม่หยุด"
รู้จักโรคกินไม่หยุด
โรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder : BED) เป็นโรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารในปริมาณที่มากผิดปกติ ไม่สามารถคุมตัวเองได้ ไม่หิวก็ยังรับประทาน ที่สำคัญจะรับประทานจนอิ่มแบบที่ไม่สามารถรับประทานอาหารอื่น ๆ ต่อได้ หลังจากนั้นจะรู้สึกโกรธตัวเองที่ทำพฤติกรรมแบบนี้ลงไป แต่ที่น่าสนใจก้คือ โรคนี้ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดและสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนทุกช่วงวัย
แบบไหนเรียกกินไม่หยุด
- กินมากกว่าปกติ
- กินแบบควบคุมตัวเองไม่ได้
- กินปริมาณมากในเวลาที่รวดเร็ว
- กักตุนอาหารไว้ใกล้ตัว
- กินได้ทุกเวลาไม่ว่าจะหิวหรือไม่หิว
- กินคนเดียวเพราะรู้สึกอาย
- กินเสร็จแล้วจะรู้สึกผิด โกรธ เศร้า รังเกียจ โทษตัวเอง
- กินไม่หยุดต่อเนื่อง 3 เดือนขึ้นไป
ปัญหาสุขภาพที่ตามมาจากการกินไม่หยุด
นอกจากโรคกินไม่หยุดจะเพิ่มความเสี่ยงโรคเรื้อรังอย่างโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือดแล้ว ยังส่งผลกระทบกับระบบทางเดินอาหารโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น
- ท้องอืด จากการกินอาหารมากเกินไป ทำให้ต้องย่อยอาหารนานมากขึ้น เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารมากขึ้น ปวดท้อง แน่นท้อง มีลมในท้อง ซึ่งในระยะยาวอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและกระเพาะอาหารอักเสบได้
- อาหารไม่ย่อย เพราะกินไม่หยุดจึงกินมากไป ทำให้ไม่สบายท้อง อึดอัดบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ ปวดท้องช่วงบน แสบร้อน ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดี หากร้ายแรงอาจเลือดออกในทางเดินอาหาร หลอดอาหารตีบ หรือกระเพาะอาหารส่วนปลายตีบได้
- กรดไหลย้อน หากกินมากไปและโดยเฉพาะกินมากไปแล้วนอนทันทีย่อมเสี่ยงต่อกรดไหลย้อน คือการที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลกลับขึ้นไปที่หลอดอาหาร อาจรู้สึกแสบร้อนที่ลิ้นปี่มาที่หน้าอกและคอ หากปล่อยให้เรื้อรังจนรุนแรงอาจมีแผลที่หลอดอาหารและนำไปสู่โรคมะเร็งแม้พบน้อยก็ตาม
- ท้องร่วง การกินไม่หยุด ทำให้กินมากไป กินหลายอย่าง จนกระเพาะอาหารและลำไส้เกิดการแปรปรวน ส่งผลให้ท้องเสียและท้องร่วงได้เช่นกัน
รักษาโรคกินไม่หยุด
วิธีรักษาโรคกินไม่หยุด แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจเช็กร่างกายอย่างละเอียด ก่อนจะรักษาด้วยการปรับพฤติกรรมบำบัดร่วมกับการใช้ยารักษาตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งต้องอาศัยเวลาในการปรับเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป และผู้ป่วยแต่ละคนจะมีวิธีการรักษาแตกต่างกันตามปัจจัยทีทำให้เกิดโรคและปัญหาสุขภาพที่ต้องเผชิญ
ป้องกันโรคกินไม่หยุด
- ห่างไกลความเครียด
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- ปรึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
หากมื้อไหนที่กินมากเกินไป เช่น กินอาหารมื้อใหญ่เนื่องในโอกาสพิเศษต่าง ๆ อันนี้ไม่ถือว่าเป็นโรคกินไม่หยุด ดังนั้นเราจึงควรสังเกตพฤติกรรมการกินอาหารของตัวเอง หากมีอาการกินไม่หยุดเป็นเวลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 3 เดือน นี่อาจเป็นสัญญาณของโรคดังกล่าว ดังนั้นหากพบว่าตนเองเข้าข่ายว่ามีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาทันที ก่อนที่ปัญหาสุขภาพจะเรื้อรังและรุนแรงมากขึ้น