อาการปวดหัวเรื้อรัง เสี่ยงเนื้องอกในสมอง

อาการปวดหัวเรื้อรัง เสี่ยงเนื้องอกในสมอง
Photo by Milad Fakurian / Unsplash

"ปวดหัว" ใครๆ ก็เคยเป็น แต่หากปวดหัวต่อเนื่องแม้ในช่วงที่พักผ่อนเพียงพอ และไม่มีความเครียดหรือกังวลใดๆ สัญญาณนี้อาจเป็นข้อความจากสมองที่บ่งบอกถึงความผิดปกติ เช่น เนื้องอกในสมอง (Brain Tumor) หรือไม่?

3 อาการสังเกต เสี่ยงมีเนื้องอกในสมอง

ปวดหัวเป็นอาการที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย มักเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ค่าสายตาที่เปลี่ยนไป อาการไซนัสอักเสบ ศีรษะได้รับการกระแทก ความเครียด หรือกล้ามเนื้อต้นคอและไหล่เกร็ง พบมากในกลุ่มคนวัยทำงาน อย่างไรก็ตาม อาการปวดหัวส่วนใหญ่จะหายไปในเวลาสั้นๆ และไม่กระทบต่อกิจกรรมในชีวิตประจำวันมากนัก แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติในสมองและควรปรึกษาแพทย์

  1. ปวดหัวเรื้อรัง: หากปวดหัวมากกว่า 15 วันต่อเดือน อย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน อาจเป็นอาการเบื้องต้นของเนื้องอกในสมองที่เริ่มขยายขนาด ทำให้แรงดันในสมองเพิ่มขึ้นและแสดงออกในรูปแบบของอาการปวดหัว
  2. อาเจียน: โดยเฉพาะการอาเจียนในตอนเช้า เป็นหนึ่งในอาการร่วมที่สำคัญที่ควรพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีความผิดปกติในสมองที่ไม่ได้เกิดจากความเครียดปกติ
  3. ท่าทางการเคลื่อนไหวหรือการสื่อสารผิดปกติ: เกิดจากก้อนเนื้อกดทับสมองส่วนที่ควบคุมระบบต่างๆ ผู้ป่วยอาจพูดไม่ได้ แขนขาอ่อนแรงหรือชา การทรงตัวผิดปกติ หรือมีอาการชัก ทั้งที่ไม่เคยมีประวัติการชักมาก่อน

ทำอย่างไรเมื่อสงสัยว่าอาจมีเนื้องอกในสมอง

แม้ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุแน่ชัดของเนื้องอกในสมอง (Brain Tumor) ได้ แต่หากมีอาการตามที่กล่าวข้างต้น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และหากมีก้อนเนื้องอกจริง แพทย์จะตรวจสอบว่าเป็นเนื้องอกทั่วไป (ไม่ใช่มะเร็ง) หรือเนื้อร้าย (มะเร็ง) การตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดจะช่วยให้รับมือได้เร็วขึ้น โดยแพทย์จะประเมินและวินิจฉัยตามขั้นตอนดังนี้:

  1. ประเมินอาการเบื้องต้น: แพทย์จะสอบถามข้อมูล พูดคุย สังเกตลักษณะการสื่อสาร ท่าทางการเดิน ทดสอบกำลังของแขนขา และตรวจเส้นประสาทตาว่ามีอาการบวมจากแรงดันในสมองหรือไม่
  2. CT SCAN และ MRI: หากแพทย์ประเมินว่าคนไข้มีอาการเนื้องอกในสมอง แพทย์จะยืนยันผลด้วยการสแกนสมอง (MRI) ซึ่งจะเห็นตำแหน่งและขนาดของก้อนเนื้อชัดเจน ก่อนเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป

การผ่าตัดรักษาเนื้องอกในสมองด้วยเทคนิค Micro Surgical Technique

การตรวจด้วยเครื่องสแกนจะช่วยให้แพทย์มั่นใจว่ามีก้อนเนื้องอกในสมอง และหากตรวจด้วย MRI จะทราบตำแหน่งก้อนเนื้อชัดเจน ภารกิจสำคัญต่อมาคือการเอาก้อนเนื้องอกออกมาตรวจ เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่าก้อนเนื้อนั้นคืออะไร และเข้าสู่วิธีรักษาที่เหมาะสม

โดยทั่วไปแพทย์จะใช้วิธีผ่าตัดด้วยเทคนิค Micro Surgical Technique ซึ่งเป็นเทคนิคที่ช่วยในการผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการเสียเลือดระหว่างผ่าตัด ต้องคำนึงถึงขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้องอก แพทย์จะผ่าตัดด้วยกล้อง Microscope ร่วมกับเทคโนโลยีการหาพิกัดตำแหน่งที่แม่นยำ (Navigator) ก่อนจะตัดก้อนเนื้องอกออกด้วยอุปกรณ์ขนาดเล็ก และใช้เลเซอร์ช่วยในการผ่าตัด ลดการเสียเลือดและทำงานได้ดีกับกล้องผ่าตัดขนาดเล็กที่เรียกว่า Endoscope

นอกจากการรักษาโรคและความเจ็บป่วยให้คนไข้ สิ่งหนึ่งที่แพทย์พยายามทำคือการเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยให้คนไข้ โดยเฉพาะการผ่าตัดเนื้องอกในสมองที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสูง การรักษาที่ดีควรผสมผสานความรู้และความชำนาญของแพทย์กับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการรักษาปัจจุบัน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์สูงสุดในการรักษา