วิธีการป้องกัน 4 โรคระบาดอันตราย

วิธีการป้องกัน 4 โรคระบาดอันตราย
Photo by Usman Yousaf / Unsplash

การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในช่วงต้นปีที่มีทั้งร้อนและหนาวสลับกันไปมาอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคที่แพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนและนักท่องเที่ยว ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องการแนะนำคุณให้รู้จักกับ 4 โรคระบาดอันตราย พร้อมวิธีป้องกันง่าย ๆ ที่หากไม่ระวัง อาจทำให้คุณตกเป็นเหยื่อของโรคเหล่านี้โดยไม่ทันตั้งตัว

1. โรคไข้หวัดใหญ่

เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่แพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว พบได้ในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ที่อาจมีอาการรุนแรงและเกิดโรคแทรกซ้อนได้

  • การติดต่อ: แพร่กระจายจากเชื้อไวรัสในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย โดยการไอ จาม หรือลมหายใจที่มีฝอยละออง บางครั้งเชื้อสามารถแพร่ผ่านการสัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส และเข้าสู่ร่างกายผ่านจมูก ตา และปาก
  • อาการ: ผู้ป่วยจะมีไข้ทันที ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย อาจมีอาการคัดจมูก เจ็บคอ ไอ บางรายอาจมีอาการรุนแรง เช่น หอบเหนื่อย ทานอาหารไม่ได้ อ่อนเพลียมาก ควรรีบพบแพทย์ เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
  • การป้องกัน: หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และกลุ่มเสี่ยงควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี

2. โรคอุจจาระร่วง

ในเด็กมักเกิดจากเชื้อไวรัส ในผู้ใหญ่มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาการมักไม่รุนแรงและหายได้ภายใน 7-10 วัน

  • การติดต่อ: เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายทางปาก ผ่านการสัมผัสของเล่นหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนอุจจาระ น้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพอง หรือแผล รวมทั้งการไอจามรดกัน
  • อาการ: มีไข้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ท้องเสีย บางรายอาจถ่ายเป็นน้ำและมีอาการปวดท้องร่วมด้วย
  • การป้องกัน: ล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหาร และหลังขับถ่าย ทำความสะอาดของเล่นและสิ่งของ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดและการใกล้ชิดกับผู้ป่วย

3. โรคไข้เลือดออก

เกิดจากเชื้อไวรัสที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค

  • การติดต่อ: ยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้วแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น โดยกัดในระยะไม่เกิน 400 เมตร ยุงชนิดนี้กัดได้ทั้งกลางวันและกลางคืน มักพบในบริเวณที่มีน้ำนิ่ง เช่น ตุ่มน้ำ โอ่งน้ำ แจกัน จานรองตู้กับข้าว กระป๋อง ฝากะลา ยางรถยนต์เก่าๆ
  • อาการ: หลังรับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน จะมีไข้สูงต่อเนื่อง 2-7 วัน หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดเบ้าตา ปวดท้อง อาเจียน เบื่ออาหาร มีจุดแดงตามแขน ขา ลำตัว และรักแร้ อาจมีเลือดกำเดาไหลและเลือดออกตามไรฟัน
  • การป้องกัน: ป้องกันตนเองและคนรอบข้างไม่ให้ถูกยุงกัด นอนในมุ้งหรือห้องที่ป้องกันยุงลายได้ ทั้งกลางวันและกลางคืน ขจัดลูกน้ำและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

4. โรคอหิวาตกโรค

เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในอุจจาระและอาเจียนของผู้ป่วยหรือผู้เป็นพาหะ ซึ่งแพร่กระจายไปสู่สิ่งแวดล้อม ปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม

  • การติดต่อ: เกิดจากการทานอาหารที่ไม่สะอาด หรือสัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อโรค โดยมีแมลงวันเป็นพาหะนำเชื้อ
  • อาการ: ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการ แต่อาจเป็นพาหะและแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงจะปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลววันละหลายครั้ง และหายเป็นปกติภายใน 1-2 วัน ผู้ที่มีอาการรุนแรงจะถ่ายอุจจาระเป็นน้ำสีขาวขุ่น กลิ่นเหม็นคาว อาจอาเจียน หากไม่รีบพบแพทย์อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่จนเกิดอาการอ่อนเพลีย ปากแห้ง กระหายน้ำ กระสับกระส่าย ตาลึกโหล และอาจเสียชีวิตได้
  • การป้องกัน: รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ ดื่มน้ำสะอาด ล้างมือก่อนปรุงและรับประทานอาหารทุกครั้ง เก็บอาหารในฝาชีหรือใส่ตู้กับข้าวให้มิดชิด ถ่ายอุจจาระในห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะ

อย่าลืมดูแลตนเอง ทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหาร ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก่อนที่โรคระบาดจะใกล้เข้ามา