"มะเร็ง" รู้เร็ว รักษาได้
"โรคมะเร็ง" เป็นโรคร้ายที่คนทั่วโลกต่างหวาดกลัว ตามรายงานแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ (พ.ศ. 2561-2565) ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในสถานการณ์โรคมะเร็งโลก ระบุว่า "โรคมะเร็งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลก โรคมะเร็งจึงถือเป็นปัญหาสาธารณสุขของทุกประเทศ"
สถิติโรคมะเร็งในไทย
โรคมะเร็ง จัดเป็นสาเหตุลำดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตของคนไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลล่าสุดของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า ปัจจุบันคนไทยมีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ถึงวันละ 336 คน หรือ 122,757 คนต่อปีและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเฉลี่ยวันละ 221 คน หรือ 80,665 คนต่อปี โดยองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งรายงานว่า ประเทศไทยจะพบผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งในเพศหญิง 151 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน และพบในเพศชาย 169.3 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน


มะเร็งคืออะไร?
มะเร็ง เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของเซลล์ในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ที่อาจมีการเจริญเติบโตที่ปิดปกติ เกิดเป็นก้อนเนื้อที่มีการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง และยังสามารถกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ผ่านทางกระแสเลือด หรือระบบทางเดินน้ำเหลือง โดยโรคมะเร็งนี้มีหลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดโรคและชนิดของเซลล์มะเร็ง
มะเร็งสามารถแบ่งออกได้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
- Carcinoma: มะเร็งที่มีจุดกำเนิดมาจากผิวหนัง หรือเนื้อเยื่อบุอวัยวะ
- Sarcoma: มะเร็งที่มีจุดกำเนิดมาจากกระดูก กระดูกอ่อน ไขมัน กล้ามเนื้อและเส้นเลือด
- Leukemia: มะเร็งที่มีจุดกำเนิดมาจากเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูก ทำให้เม็ดเลือดเกิดความผิดปกติ
- Lymphoma and myeloma: มะเร็งที่มีจุดกำเนิดมาจากเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกัน
- Central nervous system: มะเร็งที่มีจุดกำเนิดมาจากระบบสมองและไขสันหลัง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง
ในทางการแพทย์ โดยทั่วไปแล้วไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคลนั้นเกิดจากสาเหตุเพียงสาเหตุเดียว โดยในปัจจุบันพบว่ามีหลายปัจจัยเสี่ยงที่เป็นกระตุ้น หรือเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งที่มากขึ้น
- อายุ: อายุที่เพิ่มมากขึ้นมีโอกาสเกิดมะเร็งได้มากขึ้น
- บุหรี่: มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปอด, มะเร็งกล่องเสียง, มะเร็งช่องปากและลำคอ, มะเร็งหลอดอาหาร, มะเร็งกะเพาะปัสสาวะ, มะเร็งไต, มะเร็งกระเพาะอาหาร, มะเร็งตับอ่อนและมะเร็งปากมดลูก
- แสงแดด หรือรังสีอัลตราไวโอเล็ต (UV: มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งผิวหนัง
- รังสีในธรรมชาติ เช่น รังสี X-ray, รังสีนิวเคลียร์, แก๊สเรดอน (หากได้รับในปริมาณที่มากเกินกำหนด): มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งลิวคีเมีย, มะเร็งไทรอยด์, มะเร็งเต้านม, มะเร็งปอดและมะเร็งกระเพาะอาหาร
- สารเคมีต่าง ๆ เช่น แร่ใยหิน (Asbestos), เบนซีน (Benzene), เบนซิดีน (Benzidine), แคดเมียม (Cadmium), นิกเกิล (Nickel), ไวนิลคลอไรด์ (Vinyl chloride)
- ไวรัส หรือแบคทีเรียบางชนิด เช่น HPV, ไวรัสตับอักเสบบี/ ซี, HIV
- การได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน: มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านม
- คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็ง: เนื่องจากมะเร็งบางชนิดมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติยีนส์ แต่มะเร็งที่ถ่ายทอดกันผ่านครอบครัวนั้น มีโอกาสพบได้น้อย
- แอลกอฮอล์: มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งช่องปากและลำคอ, มะเร็งทางเดินอาหาร, มะเร็งกล่องเสียง, มะเร็งตับและมะเร็งเต้านม
- ไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวันบางอย่าง เช่น การชอบรับประทานอาหารไขมันสูง ที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งลำไส้, มะเร็งโพรงมดลูกและมะเร็งต่อมลูกหมาก ความอ้วนหรือการไม่ออกกำลังกาย ที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านม, มะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งหลอดอาหาร, มะเร็งไตและมะเร็งโพรงมดลูก
แต่การที่เรามีปัจจัยเสี่ยงก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเป็นโรคมะเร็งแน่นอนเสมอไป ในขณะเดียวกันคนที่ไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงอะไรเลย ก็สามารถเป็นโรคมะเร็งได้เช่นกัน โรคมะเร็งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ หรืออาการบาดเจ็บ และโรคมะเร็งนี้ก็ไม่ใช่โรคติดต่อ จึงไม่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
อาการเบื้องต้นที่อาจเป็นอาการแสดงของโรคมะเร็ง
- การตรวจพบการหนาตัวหรือก้อนเนื้อที่ผิวหนัง, เต้านม หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
- ไฝที่เกดิขึ้นใหม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของไฝเดิม เช่น ขยายขนาดโตขึ้น, คัน, แตก, เป็นแผล หรือมีเลือดออก
- เสียงแหบ หรืออาการไอเรื้อรัง
- การเจ็บปวดบริเวณร่างกาย ณ จุดเดิม ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน
- ความเปลี่ยนแปลงในการรับประทานอาหาร เช่น กลืนลำบาก, กลืนแล้วเจ็บ, อิ่มเร็ว หรือคลื่นไส้อาเจียน
- ความเปลี่ยนแปลงในการขับถ่ายปัสสาวะ หรืออุจจาระ เช่น ปัสสาวะลำบาก ติดขัด, ปัสสาวะปนเลือด, ถ่ายอุจจาระก้อนเล็กลง, อุจจาระปนเลือด หรืออาการปวดหน่วงที่ทวารหนักเวลาขับถ่าย
- น้ำหนักตัวที่ลดลงมาก อย่างไม่มีสาเหตุ
- สารคัดหลั่งผิดปกติ หรือมีเลือดออก เช่น ตกขาวผิดปกติ, ตกขาวปนเลือด, เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ หลังจากการมีเพศสัมพันธ์
อย่างไรก็ตาม อาการที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้น อาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากการเป็นโรคมะเร็งเสมอไป ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัยให้ชัดเจน โดยทั่วไปแล้วในระยะแรกของโรคมะเร็งนั้น มักไม่แสดงอาการเจ็บป่วยอย่างชัดเจน หากมีอาการข้างต้นที่กล่าวมานั้น จึงควรไปพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ เพื่อที่จะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที