10 คำถามยอดฮิต ว่าด้วยเรื่องของการทำประกัน

10 คำถามยอดฮิต ว่าด้วยเรื่องของการทำประกัน

มนุษย์เราเริ่มรู้จักการบริหารจัดการความเสี่ยงมาตั้งแต่ยุคโบราณ ไม่ว่าจะเป็น การอาศัยอยู่ในถ้ำเพื่อป้องกันตนเองจากภัยธรรมชาติและสัตว์ป่า การทำโล่กำบังตนจากคมเขี้ยวและอาวุธ การติดลวดหนามหรือสัญญาณระวังภัยรอบที่อยู่อาศัย เพื่อซื้อเวลาในการหลบหนีหรือป้องกันตัว จนกระทั่งการบริหารความเสี่ยงนั้นถูกนำพัฒนาขึ้นมาเป็นธุรกิจประกันในที่สุด

ปัจจุบันการจะทำประกันชีวิตสักฉบับจะว่าเป็นเรื่องง่ายก็ไม่ใช่ ยากก็ไม่เชิง แถมยังมีรูปแบบของประกันให้เลือกมากมายหลายอย่าง ทำให้คนส่วนใหญ่ตัดสินใจได้ยากว่าควรจะซื้อประกันแบบไหนดี เพื่อให้เห็นภาพของการบริหารความเสี่ยงด้วยการทำประกันชีวิตให้มากขึ้น ลองมาเริ่มต้นจากคำถามยอดฮิตกันดูบ้าง

1. ซื้อประกันของที่ไหนดี?

เราไม่สามารถนำแบบประกันทุกแบบของทุกที่มาเปรียบเทียบกันได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือ การถามตัวเราเองก่อนว่า เรากำลังมองหาประกันชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงในด้านใด เช่น ด้านสุขภาพ เป็นหลักประกันให้คนในครอบครัว หรือเพื่อความมั่นคงหลังเกษียณ จากนั้นก็ไปดูแบบประกันที่เกี่ยวข้องกับความกังวลของเรา อาจให้ตัวแทนขายประกันช่วยทำข้อมูลสรุปผลประโยชน์ของแบบประกันในลักษณะที่เราต้องการมาให้ก่อน แล้วลองเปรียบเทียบกับบริษัทประกันที่น่าเชื่อถืออื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นจากตัวเลือกที่ใกล้เคียงกัน

2. มีสวัสดิการของที่ทำงานแล้ว ต้องซื้อประกันสุขภาพเพิ่มหรือไม่?

ในกรณีนี้ ถ้าอยากมีประกันสุขภาพไว้อุ่นใจยามเจ็บป่วย ควรจะซื้อเป็นของตัวเองดีที่สุด เพราะสวัสดิการของที่ทำงานไม่ได้ครอบคลุมไปจนถึงหลังเกษียณ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เราน่าจะได้ใช้มากที่สุด อีกทั้งประกันส่วนตัวยังสามารถใช้ร่วมกับสวัสดิการของบริษัทเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้มากขึ้นด้วย ซึ่งควรซื้อไว้ตั้งแต่ยังมีสุขภาพแข็งแรงดีที่สุด จะได้ไม่มีข้อยกเว้นในการไม่คุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อนการทำประกันและควรผูกไว้กับประกันชีวิตที่ได้ความคุ้มครองยาวไปจนถึงหลังเกษียณ อย่างประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ไม่ควรซื้อพ่วงกับแบบประกันที่มีระยะเวลาคุ้มครองน้อย เพราะประกันสุขภาพจะหมดเร็วตามไปด้วย และไม่แนะนำให้ซื้อประกันสุขภาพที่มาเดี่ยว ๆ ที่แม้ค่าเบี้ยประกันอาจถูกกว่า แต่ก็โอกาสที่จะถูกปฏิเสธการต่ออายุในปีต่อไปสูงกว่า

3. ซื้อประกันไว้ลดหย่อนภาษี ควรซื้อแบบไหนดี?

ควรเลือกซื้อประกันที่ตอบโจทย์ความต้องการระยะยาวของตัวเอง ส่วนผลประโยชน์ด้านภาษีนั้นให้มองเป็นผลพลอยได้แทน หากเราซื้อประกันเพื่อต้องการหักภาษีเพียงอย่างเดียว จะได้ประโยชน์จากการทำประกันชีวิตไม่เต็มที่และอาจทำให้หลาย ๆ คนลืมนึกถึงความสามารถในการชำระเบี้ยประกันในระยะยาวจนได้ไม่คุ้มเสีย เพราะการนำค่าเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีไปแล้ว ในเวลาต่อมาเกิดจ่ายไม่ไหว จนต้องยกเลิกประกันชีวิตก่อนครบกำหนด 10 ปี (ตามเงื่อนไขของการยกเว้นภาษี) ก็จะต้องคืนเงินภาษีที่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนไปก่อนหน้านี้ พร้อมกับเสียเงินเพิ่มให้กรมสรรพากรอีกด้วย

หมายเหตุ: กรมธรรม์บางฉบับไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เพราะมีเงินคืนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือมีระยะเวลาเอาประกันน้อยเกินกว่ากำหนด ดังนั้นหากจะนำค่าเบี้ยประกันชีวิตมาลดหย่อนภาษี ก็ควรจะตรวจสอบให้มั่นใจก่อนว่าว่ากรมธรรม์นั้นเข้าเกณฑ์ที่จะนำมาลดหย่อนภาษีได้หรือไม่ และหากจะนำมาใช้ในการลดหย่อนภาษี ก็ควรเลือกแบบประกันที่สามารถใช้ลดหย่อนได้หลายปี เพื่อจะได้ตอบโจทย์ผลพลอยได้ทางภาษีเพิ่มขึ้น

4. ทำไมประกันชีวิตของเรา ไม่ดีเหมือนของคนอื่น?

เนื่องจากประกันชีวิตมีหลายรูปแบบ แต่ละแบบก็มีรายละเอียดแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าประกันชีวิตฉบับนั้น ๆ เน้นบริหารความเสี่ยงในด้านไหนให้เราเป็นพิเศษ

ยกตัวอย่างเช่น นายบี อยากมีประกันสุขภาพไว้ช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่าย ในกรณีเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาล แต่นายบีมีเงินเดือนยังไม่มาก เพื่อให้ตอบโจทย์ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้ได้มากที่สุด ตัวแทนประกันจึงไม่ได้เสนอค่าชดเชยรายวันกรณีเจ็บป่วยและต้องหยุดงานรวมไว้ในค่าเบี้ยที่ต้องจ่ายทุกปีเพราะไม่มีความจำเป็น จึงไปเน้นสิทธิประโยชน์ค่าห้อง ค่ารักษาพยาบาลให้แทน ถ้านายบีต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลขึ้นมา ก็จะเคลมได้เฉพาะค่าใช้จ่ายที่ได้ทำประกันไว้ แต่ไม่สามารถเคลมค่าชดเชยรายวันได้นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอีกมากที่ทำให้ประกันชีวิตและประกันสุขภาพของแต่ละคนแตกต่างกันไป เช่น อายุ เพศ อาชีพ จำนวนเงินเอาประกัน หรือแม้แต่ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของแต่ละคน

5. ครอบครัวมีประวัติเป็นความดัน เบาหวาน มะเร็ง มีผลต่อการรับประกันสุขภาพหรือไม่?

การทำประกันสุขภาพเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล หากเราไม่ได้เป็นโรคดังกล่าวก่อนการทำประกันก็ไม่มีอะไรน่ากังวล เว้นแต่ว่าบริษัทประกันนั้นเห็นว่าเรามีความเสี่ยงด้านสุขภาพบางอย่าง เช่น น้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์ หรือเคยมีประวัติเข้ารับการรักษาอาการบางอย่าง ก็อาจต้องไปตรวจสุขภาพเพิ่มเติมตามรายการที่บริษัทกำหนด ซึ่งค่าตรวจสุขภาพส่วนใหญ่แล้วผู้ขอเอาประกันจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง แต่ก็มีข้อยกเว้น เช่น กรณีตรวจแล้วพบว่าไม่มีปัญหาอะไร สามารถทำประกันได้ บริษัทประกันอาจจะออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้เราแทน หากวงเงินในการทำประกันของเราเข้าเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด

6. มีประวัติการรักษาพยาบาลและเคยผ่าตัด จะทำประกันสุขภาพได้หรือไม่?

กรณีคนที่มีโรคประจำตัว เคยผ่าตัด หรือมีประวัติการตรวจพบอาการผิดปกติบางอย่างสุขภาพนั้น สามารถกรอกคำขอเอาประกันตามความเป็นจริง เพื่อส่งให้บริษัทประกันพิจารณาก่อนได้ โดยทางบริษัทฯ อาจให้ตรวจสุขภาพเพิ่มเติม หรือไปขอประวัติการรักษาพยาบาลมาประกอบ ซึ่งผลการพิจารณามีหลายรูปแบบ ดังนี้

  • รับประกันตามปกติเลย ซึ่งถือว่าโชคดีมาก
  • รับประกันแต่ต้องจ่ายเบี้ยสุขภาพแพงขึ้น ข้อนี้ก็ถือว่าดี เพราะยังได้รับความคุ้มครองครบถ้วนเหมือนคนมีสุขภาพปกติทุกอย่าง
  • รับประกันแบบมีเงื่อนไขที่ว่า ไม่คุ้มครองโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการผิดปกติที่เป็นมาก่อน ถ้าผลออกมาแบบนี้ถือว่าใช้ได้ เพราะยังได้รับความคุ้มครองในโรคอื่น ๆ อยู่
  • ปฏิเสธการรับประกัน ข้อนี้ถือว่าแย่หน่อย แต่ถ้ากลับไปดูแลตัวเองให้ดีขึ้น จนอาการผิดปกติหายไป สุขภาพโดยรวมดีขึ้น ก็มีโอกาสที่จะมีประกันสุขภาพได้ในวันข้างหน้า

7. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ต่างจากเงินฝากอย่างไร?

"เงินฝาก" คือ เงินที่ฝากไว้ก่อน จะใช้เมื่อไหร่ค่อยถอนออกมา แต่ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ คือ "เงินออม" ที่ได้รับความคุ้มครองชีวิตด้วย หากยกเลิกก่อนกำหนดก็อาจขาดทุนเงินต้นได้ แต่ถ้าสามารถเก็บออมในระยะยาวได้ตามเป้าหมายของการทำประกันแล้ว ดอกผลที่ได้จากเงินต้นที่เท่ากัน ในระยะเวลาฝากที่เท่ากัน ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ถือว่าได้ประโยชน์มากกว่าการเก็บออมทั่ว ๆ ไป

8. ได้รับกรมธรรม์แล้วจะยกเลิกได้หรือไม่?

ลำดับแรกเมื่อได้รับกรมธรรม์แล้ว ก็ควรจะรีบตรวจสอบรายละเอียดและเงื่อนไขในกรมธรรม์ให้ละเอียด หากพบว่ามีจุดไหนไม่เป็นไปตามที่คุยกันไว้ ก็ไม่จำเป็นต้องเซ็นรับกรมธรรม์นั้น หรือเกิดเปลี่ยนใจกะทันหันด้วยสาเหตุใดก็ตาม ให้รีบส่งคืนกรมธรรม์ไปยังบริษัทประกันภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ ซึ่งบริษัทจะคืนเบี้ยประกันที่เหลือจากการหักค่าตรวจสุขภาพที่จ่ายตามจริง (ถ้ามี) และค่าใช้จ่ายของบริษัทฉบับละ 500 บาท

กรณีที่ตัวแทนประกันชีวิตไม่ได้มาส่งมอบด้วยตัวเอง เราสามารถอีเมลแจ้งไปยังศูนย์ดูแลลูกค้าและตัวแทนที่ขายประกันได้ เพราะอีเมลเป็นลายลักษณ์อักษร และมีวัน เวลา ยืนยันให้เราได้

9. ค่าเบี้ยประกันควรอยู่ที่เท่าไร?

สาเหตุหลักที่คนส่วนใหญ่ยกเลิกกรมธรรม์ของตนเอง เป็นเพราะการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ดังนั้นก่อนเริ่มต้นทำประกัน เราจึงควรคำนึงถึงสถานะทางการเงินของตนเองด้วย โดยค่าเบี้ยประกันที่แนะนำควรจะอยู่ที่ 10% - 15% ของรายได้ต่อปี เช่น กรณีที่เรามีรายได้เดือนละ 50,000 บาท รายได้ต่อปีจะอยู่ที่ 600,000 บาท ก็เท่ากับว่าเบี้ยประกันที่น่าจะจ่ายไหวคือ 60,000– 90,000 บาทต่อปี แต่หากใครมีภาระหนี้สินอื่น ๆ อยู่ด้วย ก็ต้องคำนวณให้ดีว่าควรซื้อแค่ไหนจึงจะเหมาะสม

10. หากไม่สามารถจ่ายค่าเบี้ยประกันต่อไปได้ จะทำอย่างไร?

กรมธรรม์ทุกฉบับ จะมีแนวทางให้เลือก 3 แบบ สำหรับคนที่ไม่สามารถจ่ายค่าเบี้ยประกันต่อไปได้ ดังนี้

  1. การเวนคืนกรมธรรม์ (ยกเลิกกรมธรรม์) วิธีนี้จะมีผลให้ความคุ้มครองสิ้นสุดลงและจะได้รับเงินคืนตามที่ระบุไว้ในตารางเวนคืนกรมธรรม์ที่แต่ละคนถืออยู่
  2. การใช้เงินสำเร็จ กรณีนี้ผู้ถือกรมธรรม์ยังได้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์อยู่ แต่จำนวนเงินเอาประกันจะลดลง โดยจำนวนเงินเอาประกันใหม่ดูได้จากตารางมูลค่าใช้งินสำเร็จที่แนบอยู่ในกรมธรรม์
  3. การขยายเวลา วิธีนี้จำนวนเงินเอาประกันภัยจะเท่าเดิม แต่ระยะเวลาคุ้มครองจะน้อยลง โดยดูได้จากตารางมูลค่าขยายเวลาในกรมธรรม์ของแต่ละคน


ไขข้อข้องใจเรื่องประกันชีวิตและประกันสุขภาพกันไปแล้ว หวังว่าทุกคนจะสามารถเลือกประกันที่พอดีกับตนเองได้ แม้ว่าเงินจะไม่สามารถซื้อสุขภาพที่แข็งแรงหรือชีวิตที่ยืนยาวได้ แต่การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ล้วนมีเงินเป็นปัจจัยสำคัญ แม้เงินจะซื้อความปลอดภัยในทรัพย์สินไม่ได้ แต่การจะปกป้องทรัพย์สินก็ต้องใช้เงิน นั่นเป็นสาเหตุที่หลาย ๆ คนยอมที่จะจ่ายเงินส่วนหนึ่ง เพื่อรักษาเงินส่วนใหญ่ไว้ด้วยการซื้อประกันให้กับตนเองหรือครอบครัว และก่อนการตัดสินใจซื้อประกัน ควรจะศึกษาเงื่อนไขต่าง ๆ ให้รอบคอบ เพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการของเรามากที่สุด ภายใต้งบประมาณที่เรามี...